การเรียนพิเศษนั้นเป็นกระบวนการเสริมสร้างความรู้ที่ถูกต้องหรือไม่

เราสามารถเห็นกันได้ทั่วไปว่าเด็กไทยนิยมเรียนพิเศษกันมาก เรียนกันเป็นล่ำเป็นสัน ทั้งช่วงเย็นหลังเลิกเรียน เสาร์อาทิตย์ นักขัตฤกษ์ บางทีเรียนจนเวลาเรียนพิเศษแทบจะพอ ๆ กับเรียนในภาคปกติกันเลยทีเดียว การเรียนพิเศษนั้นเป็นกระบวนการเสริมสร้างความรู้ที่ถูกต้องหรือไม่ ในวันนี้เราจะมาดูกัน

1. เป็นค่านิยมนำสมัย

ในสมัยปัจจุบัน เราจะเห็นสถาบันการเรียนพิเศษมีอยู่ทั่วไป ทั้งตั้งแต่เด็กเตรียมอนุบาลไปจนถึงเด็กโต ใครที่ส่งลูกไปเรียนพิเศษเด็กก็จะมีความรู้เกินเด็กที่ไม่ได้เรียน ผู้ปกครองก็อาจจะภาคภูมิใจว่าลูกของฉันนั้น “ เก่ง ” เกินเด็กทั่วไป ตรงนี้ถือเป็นกุสโลบายอันชาญฉลาดของทางสถาบันเรียนพิเศษ ทำให้สามารถดูดเงินจากในกระเป๋าของผู้ปกครองที่ไม่เท่าทันเล่ห์เหลี่ยม ซึ่งจริง ๆ แล้วเด็กนักเรียนเหล่านี้ไม่ได้มีความเก่งหรืออัจฉริยะเหนือเด็กอื่นแต่อย่างใด แต่ที่มีความรู้มากกว่าก็เพียงเพราะสถาบันนำความรู้ที่เกินหลักสูตรมาสอนก็เท่านั้นเอง ซึ่งความเป็นจริงแล้วเมื่อเด็กเหล่านี้ไปเรียนตามหลักสูตรภาคบังคับก็จะสามารถทันกันอยู่แล้ว ทีนี้พอผู้ปกครองคนอื่นเห็นลูกคนที่ไปเรียนเก่ง ฉันก็ต้องไม่ให้เสียหน้า ลูกฉันต้องเก่งบ้าง จึงเป็นวัฒนธรรมประจำชาติไปแล้วที่เด็กไทยต้องเรียนพิเศษจะได้ทันสมัยและเก่งทันลูกคนอื่น

การเรียนพิเศษ

2. ข้ออ้างที่จะได้ออกจากบ้าน

เด็กที่ก้าวเข้าสู่วัยรุ่นย่อมต้องการมีความอยากรู้อยากเห็นตามวัย ซึ่งจะมีข้ออ้างใดที่จะสามารถนำมาอ้างในการออกจากบ้านไปสู่โลกภายนอก ไปพบปะเพื่อนฝูงได้ดีเท่ากับ “ การไปเรียนพิเศษ ” ที่ผู้ปกครองมักจะอนุญาตเสมอ เพราะอยากให้ลูกเก่ง อยากให้ลูกมีความรู้ ทั้งที่จริงแล้วเมื่อไปเรียนก็ไม่ได้ตั้งใจแต่อย่างใด บางครั้งนั้นอาจไม่ได้เข้าเรียนด้วยซ้ำ ผู้ปกครองนั้นก็หลงกลลูกโดยการขวนขวายหาเงินมาส่งให้ลูกเรียนพิเศษ โดยหารู้ไม่ว่านั่นเป็นการส่งเสริมทางอ้อมให้ลูกได้ออกจากบ้านไปเหลวไหลที่โลกภายนอก

3. การเรียนในห้องไม่ได้ความรู้เต็มที่

ปัจจุบันอุดมการณ์ของครูได้ลดน้อยถอยลงไปมากเนื่องจากมีเรื่องของผลตอบแทนที่มาในรูปของตัวเงินเข้ามาบังตา จึงจะเห็นได้ว่าครูในโรงเรียนหลายคนจะรับสอนพิเศษด้วย ทั้งหลังเลิกเรียนและเสาร์อาทิตย์ ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจอีกว่าเด็กที่เรียนพิเศษกับครูนั้นมักจะทำคะแนนได้ดีกว่าเด็กที่ไม่ได้เรียน ซึ่งสิ่งนี้เป็นจึงจุดดึงดูดให้ผู้ปกครองยิ่งนิยมส่งเด็กให้เรียนพิเศษมากยิ่งขึ้นเพราะมีความเชื่อว่าจะเก่งกว่าเด็กที่ไม่ได้เรียน และก็เป็นที่น่าสงสัยว่าครูอาจไม่เต็มที่กับเด็กที่เรียนปกติในห้อง หรือนำข้อสอบที่ใช้สอบวัดผลมาติวให้กับเด็กที่เรียนพิเศษหรือไม่

4. ต้องเรียนพิเศษเพื่อคะแนน

เพราะสังคมไทยชอบยกย่องคนเก่ง และคนเก่งของสังคมไทยก็วัดจากคะแนนที่ทำได้สูง โดยไม่คำนึงถึงว่าความเก่งทางการเรียนนั้นจะรวมไปถึงเก่งในด้านการแก้ปัญหาและการใช้ชีวิตหรือไม่ สังคมไทยเป็นแบบนี้มาช้านาน เวลาเจอหน้ากันผู้ใหญ่มักถามเด็กว่าสอบได้ที่เท่าไหร่ ได้คะแนนเฉลี่ยเท่าไร ถ้าใครได้มากกว่าก็ได้หน้า ครอบครัวภูมิใจ ดังนี้เป็นต้น ผู้ปกครองจึงทำทุกวิถีทางเพื่อให้ลูกตัวเองได้คะแนนดี ๆ จึงจะได้เป็นคนเก่ง นำความภูมิใจมาให้กับครอบครัว และการเรียนพิเศษก็ถือเป็นหนึ่งในวิถีนั้นด้วย ซึ่งวัฒนธรรมแบบนี้ยังคงก่อให้เกิดความแตกแยกและชิงดีชิงเด่นทางสังคมตามมาอีกด้วย

ติดตามเพิ่มเติมได้ที่ laparolaalconsumatore.net

Releated